รพ.สต.ชะแล้ โรงพยาบาลตำบลของคนชะแล้

เดินทางจากอำเภอเมืองสงขลา เส้นทางสงขลา - ระโนด ผ่านที่ว่าการอำเภอสิงหนคร ถึงสามแยกบ่อป่าสามแยกที่คนเดินทางเส้นทางสายนี้รู้จักดี เลี้ยวซ้ายเดินทางเส้นทางตรง ประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร ถึงตำบลชะแล้ ประชาชน 2816 คน ตั้งบ้านเรือนบนที่ราบริมทะเลสาบสงขลา แบ่งการปกครองเป็น 6 หมู่บ้าน 598 หลังคาเรือน ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพด้านเกษตร คือทำประมงและทำนา พบเห็นป้ายกองทุนต่างๆ ป้ายชมรมกลองยาว โรงเรียนมัธยม 1 โรงเรียน โรงเรียนประถม 1 โรงเรียน วัด 2 แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก 1 แห่ง กองทุนสัจจะวันละบาท สภาวัฒนธรรม ชมรมอสม. ชมรมผู้สูงอายุ สภาเยาวชนเด็กที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต จิตนาการถึงความร่วมมือร่วมแรง ร่วมใจ ความสมัครสมานสามัคคี และวิถีชีวิตแบบชนบทของคนที่ตำบลชะแล้
ลุงอวบ แสงจันทร์ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขตำบลชะแล้ที่มีสมาชิก 100 คนเล่าให้ฟังว่าสมัยตอนที่ยังเด็กๆ เวลาคนในหมู่บ้านไม่สบายก็จะรักษากันเอง ซื้อยากินเอง หรือไปที่สถานีอนามัยป่าขาด เวลาทำคลอดก็ไปตามหมออนามัยที่อื่นมาทำคลอดในหมู่บ้าน ลำบากมาก จนกระทรวงสาธารณสุขให้งบประมาณก่อสร้างและจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาทำงาน ทำให้เวลาที่เจ็บป่วยก็สะดวกขึ้นมาก และเมื่อศึกษาประวัติของการก่อตั้งสถานบริการสาธารณสุขที่ตำบลชะแล้ก็พบว่าปีพ.ศ.2507ก่อสร้างสำนักงานผดุงครรภ์ด้วยทุนผูกพันธุ์ของนางสาวรัตนา เวชชูแก้ว โดยสร้างในบริเวณวัดชะแล้ ปี พ.ศ.2542กระทรวงสาธารณสุขจัดงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารสถานีอนามัยทดแทนตามแบบเลขที่ 8170/36เนื่องจากหลังเดิมมีสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้ก่อสร้าง ณ สถานที่แห่งใหม่ คือที่ตั้งปัจจุบัน ในการก้าวสู่มาตรฐานที่สำคัญ ๆ ในปี 2552 สถานีอนามัยชะแล้สามารถพัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และในปี 2553 สถานีอนามัยชะแล้เป็นสถานีอนามัยเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่จะพัฒนาไปสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชะแล้ ของคนที่ตำบลชะแล้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น