รพ.สต.ชะแล้ บริหารงานแบบมีส่วนร่วม

"การมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนา ก็คือ กระบวนการที่เชื่อมโยงระหว่างภาครัฐ และภาคีอื่น ๆ นอกจากภาครัฐ เช่น ธุรกิจเอกชน ประชาชน ชุมชน และองค์กรต่าง ๆ ให้ได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในการคิด ตัดสินใจ เพราะการพัฒนาที่ทรงพลังและยั่งยืนในสังคมประชาธิปไตย เกิดจากการพัฒนาที่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนได้ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมแรงร่วมใจในการดำเนินการ และร่วมรับประโยชน์จากการพัฒนาเป็นคำของดร.อรพินท์ สพโชคชัย ในการบรรยายการพัฒนาระบบราชการแบบมีส่วนร่วม เมื่อ พศ.2550 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชะแล้ จะก้าวไปสู่การพัฒนาสุขภาพอย่างยั่งยืน กระบวนการมีส่วนร่วมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่ง
และวันนี้ นายยกเทศมนตรีเทศบาลชะแล้ มานั่งเป็นประธานกรรมการบริหาร รพ.สต.ชะแล้ มีคณะกรรมการประกอบด้วยนายจรูญ เสียงอ่อนกำนัน นายอวบ แสงจันทร์ ประธานชมรม อสม. นายสมนึก รัตนมณี อสม. นางโสภา ชาญณรงค์ อสม. นายเจริญ รัตนสุบรรณ ประธานกองทุนสัจจะวันละบาท นางกมลทิพย์ เพชรจำรัส เลขาธิการศูนย์พัฒนาครอบครอบ นายณพงศ์ แสงระวี ปะธานชมรมผู้สูงอายุ น.ส.อารยา แก้วคีรี บุคลากรจากเทศบาลชะแล้ นายวิโชติ รัศมีโชติ ปลัดเทศบาลชะแล้ นางสาวเกษร ชุมไหม พยาบาลวิชาชีพ ชำนาญการ และนายสุชาติ ชัยกิจ หัวหน้าสถานีอนามัยทำหน้าที่เลขา

"วันนี้องค์ประกอบของทีมคณะกรรมการบริหารมาจากภาคส่วนต่างๆที่มีบทบาทต่อตำบลชะแล้ได้เข้ามามีส่วนร่วมการพัฒนา รพ.สต.แล้ว และตกลงเสร็จเรียบร้อยเพื่อทำหน้าที่ ในกาวางแผนการพัฒนาทั้งโครงสร้าง ระบบบริการ จัดหาทรัพยากร ต่างๆเช่นงบประมาณ บุคลากร และอื่นๆ รวมทั้งการแก้ไขปัญหาในการดำเนินงานของ รพ.สต.ชะแล้ในอนาคต โดยมีผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิงหนครและสาธารณสุขอำเภอสิงหนคร เป็นที่ปรึกษา"
"เรามาจากภาคส่วนของการเป็นตัวแทนประชาชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ ภาคราชการ ผู้นำองค์กร ชมรม อสม.มีเป้าหมายเดียวกันคือคนชะแล้มีความสุข และสุขภาพเป็นส่วนเสี้ยวที่สำคัญที่จะนำพาความสุขมสู่คนชะแล้ เราจึงร่วมมือกันเพื่อให้คนชะแล้มีสุขภาพที่ดี"

รพ.สต.ชะแล้กับการจัดคลินิกบริการ

ทีมงานโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชะแล้ อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา 4 คนมี นายสุชาติ ชัยกิจ ตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัย
นางสาวเกษร ชุมไหม ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพชำนาญการ นางสำเร็จ ชัยกิจ ตำแหน่งเจ้าพนักงานสาธารณสุขชำนาญงาน นางสาวนาตยา ขวัญปาน ตำแหน่งเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล นั่งคุยกันเพื่อปรับปรุงระบบบริการในบางประเด็นเพื่อสนับสนุนการบริการที่เพิ่มขึ้น และคลินิกบริการบางคลินิกที่ต้องพัฒนาให้ผ่าน
มาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด คือการบริการอนามัยแม่และเด็กและการบริการโรคเรื้อรัง จึงทบทวน ปรับปรุง และมีข้อสรุปสำหรับการจัดบริการคลิกนิกต่างๆใน รพ.สต.ชะแล้ดังนี้

-วันจันทร์เช้า บริการคลินิกอนามัยแม่และเด็ก บริการรับฝากครรภ์ ตรวจครรภ์ วันอังคารเช้าบริการคลินิกโรคเรื้องรัง ตรวจคัดกรอง และจ่ายยาแก่ผู้ป่วยความดัน เบาหวานที่รับส่งต่อมาจากโรงพยาบาลสิงหนคร นอกจากนี้วันอังคารเช้ามีคลินิกวางแผนครอบครัว วันพุธบริการทันตกรรมโดยทีมงานจากฝ่ายทันตสาธารณสุขโรงพยาบาลสิงหนคร วันพฤหัสคลินิกผู้สูงอายุและสุขภาพจิต -

"วันนี้ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชะแล้มีบริการที่เพิ่มขึ้นได้แก่บริการทันตกรรม เด็กๆและหญิงมีครรภ์จะได้รับการดูแลสุขภาพช่องปากโดยบุคลากรทันตสาธารณสุข ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดัน ส่วนใหญ่มารับยาและตรวจโดยไม่ต้องเดินทาง 20 กว่ากิโลเมตรไปถึงโรงพยาบาลอีกแล้ว"

รพ.สต.ชะแล้ โรงพยาบาลตำบลของคนชะแล้

เดินทางจากอำเภอเมืองสงขลา เส้นทางสงขลา - ระโนด ผ่านที่ว่าการอำเภอสิงหนคร ถึงสามแยกบ่อป่าสามแยกที่คนเดินทางเส้นทางสายนี้รู้จักดี เลี้ยวซ้ายเดินทางเส้นทางตรง ประมาณ 20 กว่ากิโลเมตร ถึงตำบลชะแล้ ประชาชน 2816 คน ตั้งบ้านเรือนบนที่ราบริมทะเลสาบสงขลา แบ่งการปกครองเป็น 6 หมู่บ้าน 598 หลังคาเรือน ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพด้านเกษตร คือทำประมงและทำนา พบเห็นป้ายกองทุนต่างๆ ป้ายชมรมกลองยาว โรงเรียนมัธยม 1 โรงเรียน โรงเรียนประถม 1 โรงเรียน วัด 2 แห่ง ศูนย์เด็กเล็ก 1 แห่ง กองทุนสัจจะวันละบาท สภาวัฒนธรรม ชมรมอสม. ชมรมผู้สูงอายุ สภาเยาวชนเด็กที่บ่งบอกถึงวิถีชีวิต จิตนาการถึงความร่วมมือร่วมแรง ร่วมใจ ความสมัครสมานสามัคคี และวิถีชีวิตแบบชนบทของคนที่ตำบลชะแล้
ลุงอวบ แสงจันทร์ประธานชมรมอาสาสมัครสาธารณสุขตำบลชะแล้ที่มีสมาชิก 100 คนเล่าให้ฟังว่าสมัยตอนที่ยังเด็กๆ เวลาคนในหมู่บ้านไม่สบายก็จะรักษากันเอง ซื้อยากินเอง หรือไปที่สถานีอนามัยป่าขาด เวลาทำคลอดก็ไปตามหมออนามัยที่อื่นมาทำคลอดในหมู่บ้าน ลำบากมาก จนกระทรวงสาธารณสุขให้งบประมาณก่อสร้างและจัดเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมาทำงาน ทำให้เวลาที่เจ็บป่วยก็สะดวกขึ้นมาก และเมื่อศึกษาประวัติของการก่อตั้งสถานบริการสาธารณสุขที่ตำบลชะแล้ก็พบว่าปีพ.ศ.2507ก่อสร้างสำนักงานผดุงครรภ์ด้วยทุนผูกพันธุ์ของนางสาวรัตนา เวชชูแก้ว โดยสร้างในบริเวณวัดชะแล้ ปี พ.ศ.2542กระทรวงสาธารณสุขจัดงบประมาณเพื่อก่อสร้างอาคารสถานีอนามัยทดแทนตามแบบเลขที่ 8170/36เนื่องจากหลังเดิมมีสภาพที่ชำรุดทรุดโทรมมาก จึงได้ก่อสร้าง ณ สถานที่แห่งใหม่ คือที่ตั้งปัจจุบัน ในการก้าวสู่มาตรฐานที่สำคัญ ๆ ในปี 2552 สถานีอนามัยชะแล้สามารถพัฒนาผ่านเกณฑ์มาตรฐานศูนย์สุขภาพชุมชน ของกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข และในปี 2553 สถานีอนามัยชะแล้เป็นสถานีอนามัยเป้าหมายของกระทรวงสาธารณสุขที่จะพัฒนาไปสู่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลชะแล้ ของคนที่ตำบลชะแล้